การใช้ชีวิตก่อนหมดลมหายใจ…สิทธิที่ทุกคนเลือกได้
ในอดีตที่ผ่านมา การรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับชีวิตก่อนจะหมดลมหายใจคือเมื่อมีภาวะเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุรุนแรงที่เป็นระยะสุดท้ายที่จะมีชีวิตอยู่ได้ จะมีแนวทางเดียวที่ปฏิบัติคือนำส่งโรงพยาบาล ใส่ท่อช่วยหายใจและทุกๆท่อที่จะสามารถใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วยเพื่อที่จะยื้อชีวิตไว้ให้ได้ยาวนานที่สุด แม้จะรู้ดีว่าผู้ป่วยจะอยู่ได้อีกไม่นาน และตอบไม่ได้ว่าอีกกี่วัน กี่ชั่วโมงหรืออีกกี่นาที แต่ก็อยากยื้อไว้ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด
ปัจจุบันได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความต้องการของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งคำว่า “วาระสุดท้ายของชีวิต” หมายถึง ภาวะอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ (ตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษา) และนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้ รวมถึงภาวะที่มีการสูญเสียความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร หรือที่เรียกกันว่า เจ้าชาย/เจ้าหญิงนิทรา ซึ่งไม่นับรวมถึงการเจ็บป่วยเฉียบพลันหรืออุบัติเหตุ
เมื่อถึงช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพที่ไม่รู้สึกตัว การตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจึงมักขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทีมแพทย์และญาติ ซึ่งอาจไม่ใช่ความต้องการของตัวผู้ป่วย จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ให้ผู้ป่วยใช้ช่วงที่ยังมีสติ วางแผนเพื่อการตายดี ซึ่งเป็นสิทธิของทุกคนที่สามารถกำหนดทางเลือกของตัวเองได้ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า (Living will) ซึ่งควรทำตั้งแต่ในช่วงที่ยังมี “ความรู้สึกตัวปกติ” เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้กับทีมแพทย์และครอบครัว ในการให้การดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะเลือกวิธีที่ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ โดยอาจระบุรายละเอียดในเอกสารแสดงเจตนา เช่น ความประสงค์ในการเสียชีวิต ณ สถานที่ใด ความประสงค์ที่จะรับหรือไม่รับการรักษาและใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการยื้อชีวิตในระยะสุดท้าย ความประสงค์ที่จะได้รับการเยียวยาทางจิตใจ และการปฏิบัติตามประเพณี ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการพูดคุยทำความเข้าใจกับครอบครัวถึงเจตนาที่ทำเอกสารฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งจะสามารถช่วยลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทีมผู้รักษาและญาติผู้ป่วยด้วย สามารถดูตัวอย่างและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารหนังสือแสดงเจตนาได้ที่ https://www.thailivingwill.in.th/category/content-catagory/หนังสือแสดงเจตนา
หนังสือแสดงเจตนา (Living will) คือหนังสือซึ่งบุคคลแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่าไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ซึ่งถือเป็นสิทธิผู้ป่วยอย่างหนึ่งตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ทั้งนี้หากผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง Palliative Care เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับเรื่องการตายอย่างสงบตามธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า “การตายดี” นั่นเอง
การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care ไม่ใช่การไม่รักษา หรือปฏิเสธการรักษาอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการดูแลที่สามารถให้การรักษาควบคู่กับการรักษาหลัก เช่น การรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาแบบมาตรฐาน เช่น การรับเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา รวมถึงยากินตามแผนการรักษาของแพทย์ โดยไม่ได้ไปจำกัดการรักษาที่ผู้ป่วยควรได้รับ ที่สำคัญคือการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ไม่ทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยให้ผู้ป่วยและญาติมีความเข้าใจสภาวะของโรค เข้าใจความเป็นไปของร่างกายที่จะมีความเปลี่ยนแปลงในแต่ละระยะ ซึ่งโดยปกติทั่วไปร่างกายจะค่อยๆทำงานน้อยลง ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมลง นอนหลับมากขึ้น หรืออาจสับสน นอนกลางวันตื่นกลางคืน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย มีอาการปวด ท้องอืดแน่นท้องไม่สามารถกินอาหาร และอาจมีการขับถ่ายลำบาก หรือถ่ายราดได้ การรักษาแบบประคับประคอง จะเน้นที่การรักษาแต่ละอาการที่เกิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะอาการที่บ่งบอกถึงความเจ็บปวดทรมาน ซึ่งอาจต้องใช้ยามอร์ฟีนช่วยลดอาการเหล่านั้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาขนาดและวิธีการให้ยาในผู้ป่วยแต่ละคน และกรณีผู้ป่วยต้องการเสียชีวิตที่บ้าน ก็จะแนะนำการใช้มอร์ฟีนให้กับญาติ โดยจะเน้นเรื่องการดูแลผู้ป่วยของคนในครอบครัวด้วยการพูดคุยเป็นหลัก เนื่องจากประสาทสัมผัสสุดท้ายที่ยังคงทำงานอยู่คือประสาทสัมผัสทางหู โดยเน้นการบอกความรัก ความห่วงใย บอกถึงการสะสางสิ่งที่ผู้ป่วยเป็นกังวล เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องมีความกังวลและจากไปอย่างสงบ