ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยตามที่กำหนด 16 กลุ่มอาการ สามารถรับยาได้ที่ร้านยา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องไปที่หน่วยบริการแล้วนะคะ
มีความปลอดภัยแค่ไหน ที่ให้ประชาชนรับยาเองที่ร้านยา
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด 16 กลุ่มอาการ ที่สามารถรับยาจากร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ โดยร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องผ่านการตรวจคุณภาพจาก สปสช. เป็นร้ายขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ควบคุมโดยสภาเภสัชกรรม โดยผู้ที่จะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยจะต้องเป็นเภสัชกรเท่านั้น และภายในระยะเวลา 3 วันหลังการจ่ายยา จะมีระบบการติดตามประเมินอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจากเภสัชกร
ภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ มีอะไรบ้าง
หลายท่านอาจจะสงสัยว่าอาการอะไรบ้างที่จะใช้บริการดังกล่าวได้ มาดูกันค่ะว่ามีอาการอะไรบ้าง
- อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด, ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู
ซึ่งนอกจากจะสามารถรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการแล้ว ยังมีบริการติดตามอาการหลังรับยา 3 วันที่ใช้บริการรับยาอีกด้วย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
ขั้นตอนการใช้บริการ จะต้องทำอย่างไรบ้าง
อันดับแรกก่อนเข้าใช้บริการ ขอแนะนำให้ท่านหาข้อมูลร้านยาที่เข้าร่วมโครงการก่อน เพราะไม่ใช่ทุกร้านยาที่จะสามารถเข้ารับบริการได้ โดยการหาข้อมูล สามารถหาได้จาด
- สายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน
- เช็ครายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย
- หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าจะสามารถรับบริการตามสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ ซึ่งหากมีสิทธิก็จะรับการดูแลโดยเภสัชกร ซึ่งจะให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ในกรณีที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
กรณีที่รับยาจากร้านยาแล้ว เภสัชกรประจำร้านมีหน้าที่ติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ภายหลังการจ่ายยา หากอาการดีขึ้นหรือหายจากอาการที่เป็นอยู่ ก็จะสิ้นสุดการดูแล แต่หากอาการ ไม่ดีขึ้น อาการแย่ลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีระบบการจัดการเพื่อส่งต่อเข้าสู่การรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป