ผู้สูงอายุออกกำลังกายแค่ไหนดี วัยสูงอายุ เป็นวัยที่สภาพร่างกายถดถอย มีการเสื่อมสภาพไปตามวัย อวัยวะต่างๆทำงานได้ไม่ดีเหมือนวัยทำงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจ หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นน้อยลง ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อลีบเล็กลง ข้อต่อต่างๆขาดความยืดหยุ่น รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ในร่างกายยังสามารถทำงานได้น้อยลง จนส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย
ปัญหาสุขภาพต่างๆดังกล่าวจะเกิดขึ้นน้อยหรือชลอเพื่อให้เกิดช้าได้ เมื่อผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งทำได้ด้วยการ “ออกกำลังกาย” แต่สภาพร่างกายของผู้สูงอายุแต่ละคนก็ยังแตกต่างกันมาก ต้องเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม ดูความแข็งแรงของผู้สูงอายุแต่ละท่าน ประกอบกับปัญหาด้านสุขภาพและโรคประจำตัว จึงต้องอาศัยความระมัดระวัง และการเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละท่าน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาอื่นๆด้านสุขภาพที่อาจจะตามมาได้
การเตรียมตัวก่อนออกกำลังกาย
ก่อนการออกกำลังกายในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยของผู้สูงอายุ ควรจะเริ่มต้นด้วยการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อและกระดูก เตรียมความพร้อมของระบบไหลเวียนโลหิต ให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ดี ช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บของร่างกายในระหว่างออกกำลังกายได้
การออกกำลังกายวัยสูงอายุ โดยทั่วไปจะไม่ได้เน้นการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของร่างกายเป็นหลัก การออกกำลังกายในวัยนี้มีจุดมุ่งหมายไปที่ “ทำอย่างไรให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันอยู่ได้อยู่ได้ โดยไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ” นั่นหมายถึงการอออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายมีการทรงตัวที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการพลัด ตก หกล้ม การฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรง การทรงตัวก็จะดีตามมา
การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับวัยสูงอายุ จึงควรใช้การเคลื่อนไหวที่ไม่เร็วเกินไปนัก ที่ได้ประโยชน์มากก็คือ ไทเก๊ก ชี่กง รำมวยจีน ไทชิ การออกกำลังกายด้วยยางยืด หรือรำกระบอง ซึ่งจะใช้การเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ให้ร่างกายสามารถทรงตัวอยู่ได้
ข้อควรระวังในการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ช่วยชะลอความเสื่อมของระบบต่าง ๆ และรวมถึงส่งผลดีต่อสภาพจิตใจแล้ว แต่ด้วยวัยสูงอายุเป็นวัยที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแอกว่าวัยอื่น ๆ จึงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยไม่ควรออกกำลังกายที่ต้องมีการปะทะ มีการใช้กล้ามเนื้อเกินกำลัง ออกกำลังกายผาดโผน รวมถึงการออกกำลังกายที่ต้องใช้ความสัมพันธ์ของระบบประสาทสูง หรือการออกกำลังกายที่มีน้ำหนักเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
ควรหยุดการออกกำลังกายเมื่อไม่สามารถพูดออกมาเป็นประโยคยาวๆได้ หรือมีเหงื่อไหลท่วมร่างกาย เพราะถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่หนักอย่างเพียงพอแล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิต เช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อขอคำปรึกษาและหาวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเองจะปลอดภัยมากที่สุด
สรุปการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
การออกกำลังกายผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย และลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงเพื่อทำให้จิตใจแจ่มใส ทั้งนี้ก่อนจะเริ่มต้นออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวท่านก่อนเสมอ สำหรับสิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นประจำก่อนการออกกำลังกายคือการอบอุ่นร่างกาย เพื่อเตรียมความพร้อมของร่ายการสำหรับการออกกำลังกาย และภายหลังจากการออกกำลังกายควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อไม่ให้เกิดความเมื่อยล้าหรือปวดกล้ามเนื้อภายหลังการออกกำลังกาย