หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) อันตรายถึงชีวิต
หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สำคัญต่อการมีชีวิตของทุกคน และทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาโดยไม่หยุดพัก หน้าที่สำคัญของหัวใจคือในทุกๆครั้งที่หัวใจเต้น จะมีการสูบฉีดเลือดพร้อมนำออกซิเจนไปเลี้ยงทุกเซลล์ของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ผ่านออกไปทางเส้นเลือดแดง เมื่อแต่ละเซลล์ได้รับออกซิเจน จะส่งผลให้อวัยวะสามารถทำงานได้เป็นปกติ
อาการแสดงของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
หัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) เกิดจาก การอุดตันในหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ การอุดตันนี้สามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานน้อยลงหรือหยุดทำงานได้ นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
อาการหัวใจวาย มักจะเจ็บ แน่น หรือรู้สึกไม่สบายตรงกลางหน้าอก และรู้สึกเจ็บหน้าอก ร้าวไปที่คอ แขน หรือขากรรไกร ผู้ป่วยมีเหงื่อออก รู้สึกหนาวบริเวณลำตัวส่วนบน อาจมีอาการวิงเวียน หายใจไม่อิ่ม และคลื่นไส้ร่วมด้วย อาการเหล่านี้มักจะคงอยู่นานราว 1–10 นาที แต่ผู้ป่วย หัวใจวาย โอกาสรอด มีสูงหากได้รับการดูลแลเบื้องต้นและได้รับการรักษาทันทีอย่างรวดเร็ว
ซึ่งในผู้ป่วยบางรายที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว แพทย์มักจะมีการสั่งจ่ายยาอมใต้ลิ้นมาให้ ผู้ป่วยติดตัวไว้กรณีเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งหากเราเป็นผู้ประสบเหตุที่จะต้องทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือ เราควรต้องทำความรู้จักเพื่อให้มีความรู้ว่ายาอมใต้ลิ้นคืออะไร ใช้อย่างไร
ยาอมใต้ลิ้น หรือชื่อยาคือ Nitroglycerin (ไนโตรกลีเซอริน) เป็นยาที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด สามารถใช้บรรเทาอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นยาใช้บรรเทาอาการ เพราะฉะนั้นยานี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเท่านั้น โดยหากเราเป็นผู้ช่วยเหลือ ให้สอบถามผู้ป่วยก่อนว่ามียาประจำตัวไหม หากมียาให้เรารีบนำยาให้ผู้ป่วยอมใต้ลิ้น และจัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่รู้สึกสบายที่สุด โดยการใช้ยา มีวิธีการใช้ดังนี้
- เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ให้อมยา 1 เม็ด ไว้ใต้ลิ้น ให้ยาค่อยๆละลายและดูดซึมในปาก
- ถ้าไม่ดีขึ้นใน 5 นาที ให้อมเม็ดที่ 2 ต่อได้
- กรณีอมเม็ดที่ 2 แล้วรอประมาณ 5 นาที และพบว่าอาการยังไม่ดีขึ้นอีก ให้อมยาเม็ดที่ 3 แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
ยานี้ห้ามเคี้ยว ห้ามกลืนยา หรือห้ามบ้วนน้ำลายขณะที่อมยาอยู่ และถ้าเราเป็นผู้ช่วยเหลือ ควรรีบเรียกรถพยาบาล โดยกดหมายเลข 1669 เพื่อนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ซึ่งในขณะรอรถพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงและเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำการกดหน้าอกปั๊มหัวใจหรือ CPR โดยเร็ว