เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมคำว่า “อาชีพบริบาล” “ผู้ช่วยพยาบาล” “ผู้ช่วยการพยาบาล” “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” แต่ละที่เรียกไม่เหมือนกัน แล้วอะไรคือชื่อเรียกที่ถูกต้องกันแน่ มาไขข้อสงสัยกันค่ะ
การทำงานในสายอาชีพนี้เป็นการเรียนเพื่อฝึกอาชีพ ทุกโรงเรียนที่เปิดสอนจะต้องได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาในการเรียนไม่เกิน 6 เดือน หรือนับเป็นชั่วโมงการเรียนคือ 840 ชั่วโมง และหากเราเรียนในหลักสูตรใด เราจะสามารถเรียกว่าเราทำงานในอาชีพนั้นได้เลย เช่น
- เรียนจบหลักสูตร “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งเรียน 420 ชั่วโมง หรือ 3 เดือนของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจบมาแล้วเราก็จะได้ทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ สามารถทำงานในโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการดูแลผู้สูงอายุ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั่วไปได้
- เรียนจบหลักสูตร “ประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล” ซึ่งเรียน 510 ชั่วโมง ของสภาการพยาบาล เมื่อจบแล้ว เราก็จะได้ทำงานเป็นพนักงานให้การดูแลได้ทั้งในโรงพยาบาลและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
- และยังมีหลักสูตรชื่ออื่นๆซึ่งถ้าหากเป็นโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนและขออนุญาตหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการอย่างถูกต้องแล้วนั้น ก็สามารถใช้ชื่อหลักสูตรนั้นๆในการเรียกได้เช่นเดียวกัน เช่น หลักสูตรพนักงานผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย หลักสูตรผู้ช่วยการพยาบาล หรืออื่นๆ
สรุปว่า เรียกอย่างไรก็ได้ค่ะ หากเป็นการเรียกตามหลักสูตรที่เรียนจบมาก็สามารถเรียกได้ทั้งหมด เพราะแต่ละหลักสูตรต้องผ่านการอนุญาตจากกระทรวงหรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นจึงสามารถเรียกได้ตามหลักสูตรที่เรียนจบมาค่ะ
แต่คำที่ไม่สามารถนำมาใช้กับการเรียนหรือผู้ที่ทำอาชีพในสายงานนี้ได้ คือห้ามเรียกว่าเป็น “ผู้ช่วยพยาบาล” เนื่องจากตามข้อบังคับของสภาการพยาบาล ว่าด้วยการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล พ.ศ. ๒๕๖๐ ระบุไว้ว่า “ผู้ช่วยพยาบาล” หมายความว่า บุคคลที่ผ่านการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล จากสถาบันการศึกษาตามข้อบังคับนี้และช่วยกระทําการพยาบาล หรือช่วยเหลือดูแลบุคคล ซึ่งได้รับมอบหมายและในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
ดังนั้น สถาบันการศึกษาที่จะจัดการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล จะต้องได้รับการรับรองหลักสูตรจากสภาการพยาบาลตามข้อบังคับ นั่นหมายถึงว่า สถาบันที่สามารถเปิดสอนในระดับผู้ช่วยพยาบาลนั้น จะต้องได้รับการรับรองสถาบันการศึกษาวิชาการพยาบาลและการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล หรือถ้าจะให้เข้าใจอย่างง่ายคือ สถาบันที่มีสิทธิเปิดสอนผู้ช่วยพยาบาลคือวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนคณะพยาบาลที่รับรองโดยสภาการพยาบาลเท่านั้น หากโรงเรียนเอกชนใดๆ ที่บอกว่าเปิดการเรียนการสอนระดับผู้ช่วยพยาบาล ขอให้เราศึกษาให้ดีก่อนว่าสถาบันนั้นมีสิทธิเปิดการสอนผู้ช่วยพยาบาลจริงๆหรือไม่ หรือเป็นเพียงการแอบอ้างเท่านั้น ส่วนการเรียนในสายอาชีพนี้นั้น เลือกเรียนอย่างไร เรียนที่ไหนดี เราก็มีคำตอบค่ะ
น่าสนใจมากครับ จะแนะนำให้พนักงานที่ศูนย์มาเรียนที่นี่ครับ