มีหลายท่านสงสัยว่า เมื่อเรียนด้านการบริบาล หรือผู้ช่วยการพยาบาล พอจบการศึกษาแล้ว สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้เราทำอะไรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และอาจทำให้เราถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้ วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกันค่ะ
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับคำว่า “บริบาล” กันก่อน
คำว่า บริบาล คำนี้มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤตว่า ปริปาล (อ่าน ปะ -ริ-ปา-ละ) หมายถึง ดูแลเด็กเล็ก คนชรา หรือพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรังอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด (ที่มา : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา www.orst.go.th)
ตามประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง นโยบายสภาการพยาบาลเกี่ยวกับกำลังคนในทีมการพยาบาล ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เพื่อให้มีการใช้ศักยภาพของพยาบาลอย่างเต็มที่ในการให้บริการด้านสุขาพอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีทีมการพยาบาลที่ผสมผสานทักษะ ประกอบด้วย พนักงานให้การดูแล ผู้ช่วยพยาบาล พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลวิชาชีพเฉพาะทาง พยาบาลวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา (Advanced Practice Nurse : APN) และผู้บริหารการพยาบาล รวมทั้งอาจารย์พยาบาล ดังนั้น องค์ประกอบของทีมการพยาบาล การกำหนดความหมายและขอบเขตหน้าที่ของพนักงานให้การดูแล (Nurse’ aides / Care givers) ดังนี้
“เป็นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (Nurse’ aides / Care givers) ที่สภาการพยาบาลให้การรับรองเป็นผู้ช่วยในการดูแลบุคคลที่ช่วยเหลือตนเองได้บ้างบางส่วน ในเรื่องเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ สุขวิทยาส่วนบุคคล การให้อาหาร การเคลื่อนไหวร่างกาย การพักผ่อนนอนหลับ การดูแลความปลอดภัย และความสุขสบาย ฯลฯ รวมทั้งการดูแลความสะอาดและความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม โดยการดูแลนั้น เป็นการทำงานร่วมกับญาติ และเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติงานทั้งในโรงพยาบาล บ้าน ชุมชน สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานบริการสุขภาพอื่นๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของพยาบาลวิชาชีพ”

โดยมีงานการดูแลที่มอบหมายให้พนักงานให้การดูแลปฏิบัติ ลักษณะงานของพนักงานให้การดูแล แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- งานเฉพาะที่มอบหมายให้พนักงานให้การดูแล กระทำเป็นประจำ ได้แก่
- รับโทรศัพท์และต้อนรับญาติผู้ใช้บริการ
- ตอบรับสัญญาณที่ผู้ใช้บริการเรียก
- ทำความสะอาดเตียง เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ฯลฯ
- ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ใช้บริการให้สะอาด ปลอดภัย
- เตรียมอาหาร เสิร์ฟ และทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร
- รับ-ส่งผู้ใช้บริการที่ช่วยเหลือตัวเองได้ และอยู่เป็นเพื่อนผู้ใช้บริการ
- ดูแลทำความสะอาดเครื่องใช้ในกิจวัตรประจำวันของผู้ใช้บริการ ให้มีจำนวนเพียงพอและจัดเก็บตามลำดับก่อนหลังให้เรียบร้อย
- ดูแลและทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้มีสภาพพร้อมใช้ตลอดเวลา เช่น รถเข็น ที่นอนป้องกันแผลกดทับ เครื่องพ่นยา เป็นต้น
- เตรียมความพร้อมในการให้บริการที่ต้องการพึ่งพิง ดูแลความเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ให้บริการ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงตามหลักการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ
- จัดเตรียม นับเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์การรักษาพยาบาลและการทำหัตถการต่างๆ ให้มีจำนวนครบถ้วนและพร้อมใช้งาน
- ป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ
- จัดกิจกรรมนันทนาการ เช่น อ่านหนังสือ ดูรายการโทรทัศน์ร่วมกับผู้ใช้บริการ เป็นต้น
- จัดกิจกรรมทางสังคม เช่น พาผู้ใช้บริการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม อาทิ สังสรรค์กับผู้สูงอายุ และช่วยให้ผู้ใช้บริการทำกิจกรรมทางสังคมที่ต้องการ เป็นต้น
- ช่วยฟื้นคืนชีพในระดับพื้นฐาน
- งานธุรการ เช่น รับ-ส่งเอกสาร และนำส่งสิ่งส่งตรวจ เป็นต้น
- งานเฉพาะที่มอบหมายให้พนักงานให้การดูแล กระทำโดยปฏิบัติร่วมกับพยาบาลวิชาชีพหรือผู้ที่พยาบาลวิชาชีพมอบหมาย ได้แก่
- ช่วยผู้ใช้บริการที่รู้สึกตัวดี และช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วนในการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การอาบน้ำ การขับถ่าย การดูแลผิวหนัง ความอบอุ่นของร่างกาย เช็ดตัวลดไข้ เป็นต้น
- ดูแลให้ผู้ใช้บริการได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เช่น ป้อนอาหาร ให้อาหารทางสายให้อาหารทางจมูกที่ทำเป็นกิจวัตร
- ช่วยเตรียมน้ำดื่ม เทปัสสาวะ และบันทึกจำนวนน้ำเข้าและน้ำออก
- ช่วยจัดท่าผู้ใช้บริการในการตรวจและจัดผ้าคลุม (drape) ให้เรียบร้อย จัดแสงไฟ ช่วยถือเครื่องมือในการตรวจ และอยู่กับผู้ใช้บริการขณะตรวจ
- ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ใช้บริการในการใช้รถนั่ง รถนอน พยุงเดิน
- ประเมินสภาพร่างกายเบื้องต้นอย่างง่าย เช่น สุขอนามัยในช่องปาก ความเสี่ยงต่อการหกล้ม ลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติ อาทิ ลักณษณะผิวหนังที่เกิดจากการผูกยึด เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ และการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการวัดสัญญาณชีพ เป็นต้น พร้อมบันทึก
- การฟื้นฟูสภาพตามแผนการรักษาพยาบาลที่เป็นกิจวัตร
- การเคลื่อนไหว
- การจัดท่า พลิกตัว
- การบริหารร่างกาย ข้อ และกล้ามเนื้อ (Passive and Active Exercise)
- การนวดเพื่อความสุขสบาย
- ช่วยพยาบาลวิชาชีพในการทำหัตถการ
- ช่วยทำความสะอาดร่างกายผู้ใช้บริการที่ถึงแก่กรรม

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมที่สภาการพยาบาลกำหนดให้พนักงานให้การดูแล (Nurse’ aides / Care givers) ทำได้นั้น ไม่มีกิจกรรมที่ต้องสอดใส่เครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าไปในตัวผู้รับบริการ เช่น เจาะเลือด ให้น้ำเกลือ ใส่สายให้อาหาร ใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น เพื่อให้เราทำงานในอาชีพนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ควรปฏิบัติหรือกระทำการใดๆที่ไม่มีกฎหมายรองรับนะคะ กรณีที่เราได้รับการอบรมเพิ่มเติมและได้รับใบรับรอง เช่น เจาะเลือด เราจะสามารถปฏิบัติได้ต่อเมื่ออยู่ภายใต้การควบคุมของวิชาชีพ หรือเป็นไปตามประกาศของวิชาชีพนั้นๆ กำหนดเท่านั้น
สรุปว่า หากจะปฏิบัติกิจกรรมใดๆที่นอกเหนือจากประกาศที่สภาการพยาบาลกำหนด เราควรมีกฎหมายของวิชาชีพอื่นรองรับ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง เพราะหากเราทำเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดนั้น หากถูกฟ้องร้อง และมีการดำเนินคดี จะเข้าข่ายคดีอาญาค่ะ